phone

สื่อสารกับลูกอย่างไรให้ได้ผล

สื่อสารกับลูกอย่างไรให้ได้ผล
ขอบคุณภาพจาก www.autism-community.com
        เมื่อลูกไม่ทำตามที่ต้องการ คุณพ่อคุณแม่บางคนจะใช้วิธีการขู่เข้าช่วย อย่างเช่น “ตอนกลางคืนถ้าไม่นอนผีจะมา” เป็นต้น ทั้งที่รู้ว่าไม่ค่อยดี และไม่เป็นความจริง แต่ก็อดไม่ได้ สำหรับหลายท่านที่กำลังมองหาวิธีอื่นสื่อสารกับลูกอยู่ วันนี้เรามีเคล็ดลับมาฝากค่ะ
       
       มองหาต้นตอของสาเหตุ
       
       ดูให้ชัดว่าสาเหตุของปัญหาคืออะไร แล้วแก้ที่ต้นตอ เช่น หากปัญหาคือลูกไม่ยอมนอน ก่อนจะใช้วิธีหลอกให้ลูกจิตตกด้วยความกลัว เราลองมองหาต้นตอของปัญหาดูก่อน ว่าเราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า อย่างคนเราจะง่วงเมื่อผ่อนคลาย เมื่อเราพูดถึงผี เด็กกลับจะยิ่งกลัวตาค้างไม่อยากนอน ยิ่งถ้าเป็นเด็กนอนคนเดียวด้วยแล้ว กลับจะยิ่งติดคุณพ่อคุณแม่ได้
       
       หากเป็นเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้เขาผ่อนคลาย เช่น ใช้คำพูดที่เขาชอบ เล่านิทาน หรือร้องเพลงกล่อมที่เขาชอบ แต่ไม่ควรให้กิจกรรมสนุกจนเกินไป เพราะหากหัวเราะเอิ๊กอ๊ากมากเกินไปจะกลายเป็นตื่นและไม่ยอมนอนได้
       
       หรือหากลูกไม่ยอมกินอาหาร ไม่ควรดุ เพราะจะทำให้เด็กเครียด และยิ่งไม่ชอบการกินอาหารได้ ควรลองดูว่าเป็นเพราะเขาติดเล่นหรือเปล่า หรือพ่อแม่เปิดโทรทัศน์ดูระหว่างมื้ออาหาร ทำให้ความสนใจลูกไปอยู่ที่โทรทัศน์ ไม่สนใจอาหารได้ ระหว่างมื้ออาหารนอกจากจะเลือกอาหารที่เหมาะกับช่วงวัยของลูกแล้ว ยังควรจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทุกคนรับประทานพร้อมกัน ไม่เปิดโทรทัศน์ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าเป็นเวลาที่ต้องทำอะไร ที่สำคัญ ระหว่างมื้ออาหารต้องผ่อนคลาย ทำให้ลูกรู้สึกว่าเป็นเวลาที่มีความสุขด้วยนะคะ
       
       ใช้คีย์เวิร์ดที่สื่อสารระหว่างกันเป็นประจำ
       
       อาจจะยากที่จะหาคำที่ “ใช่” เช่น เมื่อต้องการให้ลูกรู้ว่าสิ่งใดเป็นของที่ต้องระวัง คีย์เวิร์ดคือ “ระวัง” ลองนำมาผูกเป็นเพลง ใส่จังหวะ “เด็กดีต้องระมัดระวัง ระวัง ระวัง...” แล้วนำมาสอนให้เขาเรียนรู้ เด็กจะจดจำสิ่งที่พ่อแม่บอกให้ระวังได้รวดเร็วขึ้นได้เพราะเพลิดเพลินกับการเรียนรู้
       
       ตั้งคำถามให้คิด
       
       บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจคุ้นเคยกับการเป็นฝ่ายออกคำสั่ง แต่หากกระตุ้นให้เขาคิดว่าต้องทำอะไร เช่น ไปนอกบ้านกลับมาต้องทำอะไร? (คำตอบคือต้องล้างมือก่อน) หากเด็กตอบได้ให้ชมเชย จะช่วยทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง และชอบที่จะทำสิ่งต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สอนมากขึ้น ที่สำคัญคือเด็กจะจดจำได้ด้วยค่ะ
       
       แม้การสื่อสารกับเด็กอาจยังเป็นเรื่องยากอยู่บ้าง แต่ถ้าหากบรรยากาศในการเลี้ยงเต็มไปด้วยความรักความเข้าใจ เชื่อว่าการพยายามสื่อสารระหว่างกันจะสนุกขึ้นแน่นอนค่ะ
       
       อ้างอิงบางส่วนจาก www.sukusuku.com 
Scroll