phone

การเตรียมของใช้สําหรับทารกแรกเกิด

เตรียมของก่อนคลอด

ย่อมเป็นการดีที่คุณพ่อคุณแม่จะจัดเตรียมเสื้อผ้าหรือของใช้จำเป็นสำหรับลูกน้อยก่อนคลอดเผื่อไว้หลาย ๆ วัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อให้ครบถ้วนในคราวเดียว เพราะอาจจะเป็นการเร่งตัวเองให้เครียดได้โดยไม่รู้ตัว หรือถ้าซื้อมาไว้มากจนใช้ไม่หมดก็จะเป็นการเปลืองเงินเปล่า ๆ อย่างเช่นเสื้อผ้าเด็กอ่อนจะใช้ได้ไม่นานเพราะลูกน้อยนั้นโตเร็วมาก ให้หาซื้อมาแค่พอใช้ก็พอแล้ว ส่วนเตียงหรือเปลก็ควรเลือกซื้อที่มีขนาดใหญ่หน่อยเพื่อจะใช้ได้หลายปี และทุกครั้งที่เลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ใด ๆ ก็ตาม คุณแม่จะต้องนึกถึงความปลอดภัยของลูกมาเป็นอันดับแรก และต้องแน่ใจว่าเหมาะสมและตอบสนองต่อความต้องการของลูก หากคุณแม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกมาก่อน การปรึกษากับผู้ที่มีลูกมาแล้วว่าควรซื้ออะไรหรือไม่ซื้ออะไร หรืออาจหยิบยืมจากญาติพี่น้องมาใช้ก็ยังได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินได้มากขึ้น

“พ่อแม่บางคนเชื่อว่าการเตรียมของให้ลูกก่อนคลอดเป็นลางไม่ดี เพราะอาจทำให้เสียลูก แต่ถึงอย่างไรการเตรียมของล่วงหน้าก็มีข้อดีคือช่วยลดความวุ่นวายที่เกิดขึ้นหลังคลอดได้ ซึ่งคุณแม่อาจเหนื่อยเกินกว่าที่จะออกไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ด้วยตัวเอง”

การเตรียมของใช้สําหรับทารกแรกเกิด

  • การเลือกซื้อของใช้ต่าง ๆ คุณแม่จะต้องใจเย็น ๆ ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ ควรเดินดูเพื่อเปรียบเทียบราคาและคุณภาพ หากคุณแม่มีญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงที่เคยมีลูกมาแล้ว การบอกกล่าวให้หยิบยืมหรือยกให้ คุณแม่ก็ควรยิ้มรับอย่างยินดีและเต็มใจ
  • เครื่องใช้สำหรับลูกอาจไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่หมดทุกอย่าง เพราะลูกจะโตเร็วมาก การลงทุนซื้อของใช้บางอย่างจึงอาจไม่คุ้มค่า เช่น เปล หรือรถเข็น ถ้าสามารถหยิบยืมจากญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงได้ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก หรือหากจำเป็นต้องซื้อหาบางสิ่งจริง ๆ ก็ควรเลือกใช้ที่มีอายุการใช้งานนาน ๆ หรือสามารถนำมาดัดแปลงใช้ได้จนลูกโต
  • ในช่วงเดือนแรก ๆ คุณแม่กับลูกน้อยมักจะอยู่ที่บ้าน สิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการเลี้ยงดูลูกน้อยจึงมีไม่กี่อย่าง เช่น เครื่องนอน ข้าวของเครื่องใช้อาบน้ำ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่พอจะช่วยผ่อนแรงคุณแม่เมื่อพาลูกออกมาเดินเล่น
  • สิ่งของจำเป็นหลายอย่างที่สามารถใช้ได้นาน เช่น ขวดนม ผ้าอ้อม สำลี ทิชชู่ ฯลฯ คุณแม่สามารถเตรียมเผื่อไว้ได้ เพราะของเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้อยู่แล้ว
  • สิ่งของเครื่องใช้สำหรับลูกควรเลือกที่มีลวดลายน่ารักสีสันสดใส เพราะจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้
  • อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มีเอกผูก จะต้องผูกให้แน่น ถ้าเชือกยาวไปจนเกะกะก็ควรตัดทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกลืนเข้าไปจนสำลัก
  • รถเข็น ตะกร้าหิ้วเด็ก หรือเปล ต้องไม่มีเหลี่ยมมุมอันตราย ขอบที่แหลมคม หรือช่องใด ๆ ที่นิ้วของลูกจะเข้าไปติดค้างได้
  • ควรทยอยซื้อของเก็บไปเรื่อย ๆ ชวนคุณพ่อหรือเพื่อนฝูงไปด้วย เพื่อจะได้ช่วยกันเลือกและช่วยกันถือข้าวของ
  • อย่าวางลูกไว้บนโต๊ะทำงานหรือที่สูง เพราะเขาอาจพลิกตกลงมาได้
  • การทำความสะอาดก้นลูกที่ดีที่สุดคือการล้างด้วยน้ำ เพราะการใช้สำลีหรือกระดาษเช็ดก้นเช็ดอาจไม่สะอาด เกิดคราบสกปรกตกค้างอยู่บนผิวหนัง และทำให้เกิดผื่นแดงตามมาได้

ของใช้เด็กแรกเกิด

1.) หมวดห้องนอนสำหรับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรคิดจัดเตรียมห้องลูกเอาไว้ให้เรียบร้อยก่อนคลอด เพราะช่วงหลังคลอดอาจไม่มีเวลาให้จัดเตรียม เพราะต้องมายุ่งอยู่กับการเลี้ยงดูลูกน้อย ถ้าเป็นไปได้ลูกน้อยควรมีห้องเป็นของตัวเองใกล้กับห้องของพ่อแม่ แต่ถ้าไม่มีห้องต่างหากก็ควรจัดเตรียมมุมหนึ่งให้เป็นที่ตั้งเตียง เก็บเสื้อผ้า และอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยมุมนั้นไม่ควรจะอยู่ในที่อับทึบ ในห้องควรให้มีการระบายอากาศได้ดีและมีบรรยากาศที่เงียบสงบ เพื่อลูกน้อยจะได้นอนหลับได้สนิทและนาน ซึ่งจะช่วยเป็นการฝึกนิสัยการนอนที่ดีต่อไป นอกจากนี้ควรจัดแต่งห้องนอนด้วยสีสันสดใส วัสดุอุปกรณ์มีลวดลายสวยงามน่ารัก และเครื่องใช้ของลูกควรจะเผื่อให้ใช้จนลูกไปโรงเรียน

  • ความปลอดภัยและความสะดวกสบาย ห้องนอนที่ดีนอกจากจะต้องมีอากาศที่ปลอดโปร่ง สบาย และถ่ายเทได้ดีแล้ว ที่สำคัญจะต้องมีความปลอดภัยด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรจัดวางเตรียงนอนให้ห่างจากหน้าต่างและพ้นจากสิ่งขวางทาง, เตียงของลูกจะต้องมีความหนาแน่นและแข็งแรง, สิ่งของเครื่องเรือนที่มีอยู่แล้วควรจัดตกแต่งให้เหมาะสมและคอยดูแลให้สะอาดสะอ้านอยู่เสมอ, ควรมีเก้าอี้ที่ลุกนั่งได้สะดวกสำหรับคุณแม่ให้นมลูกในตอนกลางคืน, ไม่ควรวางสิ่งใดให้เกะกะระหว่างเก้าอี้ของคุณแม่ เตียงนอนของลูก และที่เปลี่ยนผ้าอ้อม, ควรมีชั้นวางของให้คุณหยิบของใช้ได้อย่างสะดวก, ด้านหนึ่งของตู้วางของให้กันส่วนหนึ่งไว้เป็นพื้นที่ว่าง และมีขอบสูงระดับเอว เวลาใช้งานจะได้ไม่ปวดหลัง, ควรวางเครื่องใช้ไฟฟ้าไว้ใกล้ที่เสียบปลั๊ก สายไฟจะได้ไม่เกะกะทางเดิน และเต้าเสียบควรมีฝาครอบปอดเมื่อไม่ได้ใช้งาน, ควรเก็บครีมทาผิวและแป้งเด็กไว้ใกล้ที่เปลี่ยนผ้าอ้อมและไหลจากมือลูก, ที่นอนของลูกไม่ควรนุ่มจนเกินไป, ควรมีฟองน้ำหนา ๆ กันเหลี่ยมมุมตู้ไว้ทุกจุด, หน้าต่างที่เปิดออกต้องมีล็อคกั้นไว้
  • แสงสว่าง ในยามดึก คุณพ่อคุณแม่อาจลุกขึ้นมาดูแลลูกน้อยหลายครั้ง ห้องนอนจึงควรมีแสงสว่างอย่างเพียงพอ ไม่ทำให้เดินสะดุด อาจใช้โคมไฟหรือไฟที่สามารถปรับความสว่างได้ตามระดับที่ต้องการ โดยไม่ทำให้ลูกต้องสะดุ้งตื่น
  • หน้าต่างและผ้าม่าน ห้องนอนของลูกควรเป็นห้องที่มีหน้าต่าง ลมพัดถ่ายเทได้สะดวก และต้องมั่นใจว่าสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้นสะอาดและปลอดกลิ่น เช่น ไม่อยู่บริเวณที่ทิ้งขยะ ไม่อยู่ใกล้กับห้องครัว ฯลฯ สำหรับบานหน้าต่างนั้นควรอยู่ในระดับที่ลูกเอื้อมไม่ถึง หากหน้าต่างอยู่ในระดับต่ำก็ควรทำลูกกรงกั้นให้เรียบร้อย สำหรับหน้าต่างแบบเปิดปิดควรมีที่ล็อคกั้นไว้ และควรมีผ้าม่านบังแสงแดดในตอนเช้าด้วย
  • พื้นห้องและผนังห้อง พื้นในห้องนอนของลูกควรเรียบและไม่ลื่น กวาดถูกทำความสะอาดได้ง่าย (ไม่ต้องปูพรม หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุปูพื้นที่เป็นขน เพราะเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นและความสกปรก) ถ้าเป็นไปได้พื้นห้องควรใช้วัสดุปูพื้นประเภทไวนิล เพราะมีความทนทานและสะดวกในการทำความสะอาด ส่วนผนังห้องถ้าใช้วอลล์เปเปอร์หรือกระดาษติดฝาผนังก็ควรจะเลือกชนิดที่เช็ดทำความสะอาดได้และสีไม่ตก สำหรับสีที่ใช่ทาผนังก็ควรเป็นสีที่ไม่มีสารพิษ (ให้ระวังสีที่มีส่วนผสมปนเปื้อนสารตะกั่ว)
  • เครื่องเรือนและการจัดเก็บ ในห้องควรมีตู้สูงระดับเอวเอาไว้สำหรับเก็บสิ่งของเครื่องใช้ และยังเป็นโต๊ะสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมได้ด้วย แต่ตู้ที่ดัดแปลงเป็นโต๊ะนี้ควรทำมาจากวัสดุพื้นผิวเรียบ ถ้าเป็นไม้ก็ควรระวังอย่าให้มีรอยแตกหรือมีเสี้ยนไม้

ของใช้ทารก

2.) หมวดที่นอนของลูก ทารกในช่วง 2-3 เดือนแรกยังตัวเล็กอยู่มาก คุณแม่อาจให้ลูกนอนในเปลหรือตะกร้า หรือปูเบาะนอนบนพื้นสะอาด ๆ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจให้ลูกน้อยไปนอนบนเตียงด้วย แต่ไม่ว่าจะให้ลูกนอนแบบไหน ที่นอนของลูกควรมีขนาดที่เหมาะสมพอดีกับเตียง ลูกนอนได้สบาย (แต่ไม่นิ่มจนเกินไป) และกันน้ำได้ คุณแม่ไม่ควรเลือกที่นอนเพราะความสวยงาม หรือที่นอนนุ่ม ๆ แต่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก อย่างเช่นที่นอนที่มีลูกไม้หรือริบบิ้นรุงรัง อาจทำให้เส้นด้ายพันนิ้วลูกได้ สำหรับหมอนนั้นทารกไม่จำเป็นต้องใช้เลยครับ รวมทั้งตุ๊กตาตัวเล็กตัวน้อยก็ไม่ควรนำมาใส่ไว้ในที่นอนหรือเตียง เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ไปปิดกั้นการหายใจของลูกได้ และที่สำคัญที่นอนควรมีผ้านวมบุอยู่โดยรอบด้วยครับ เมื่อลูกพลิกคว่ำจะได้ไม่ชนกับลูกกรงของขอบเตียง

  • เตียงนอนเด็ก คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกซื้อเตียงใหม่หรือขอเตียงเก่าจากญาติมิตร แต่ต้องมั่นใจว่าเตียงที่ได้มานั้นมีความแข็งแรง มีตัวล็อกหนาแน่น ลูกกรงที่กั้นโดยรอบเตียงมีความสูงพอที่จะไม่ให้ลูกปีนข้ามได้เมื่อโตขึ้น ส่วนซี่กรงควรห่างกันไม่เกิน 6 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้หัวกลม ๆ ของลูกเข้าไปติดอยู่เพราะความซน และที่กั้นเตียงควรสูงจากที่นอนอย่างน้อย 26 นิ้ว
  • ที่นอนแบบโคสลีปเปอร์ (Co-Sleeper) มีลักษณะเป็นกล่องนอนสำหรับเด็กที่ปิดสามด้าน มีไว้สำหรับตั้งข้างเตียงนอนของคุณแม่ ด้านหนึ่งที่เปิดไว้จะหันมาทางคุณแม่ เพื่อให้คุณแม่สามารถเอื้อมไปสัมผัสลูกน้อยได้โดยไม่ต้องลุกขึ้นมา โดยเฉพาะตอนให้นมลูก แต่ที่นอนแบบนี้จะต้องตั้งติดกับเตียงให้แน่นหนา ไม่ให้เหลือช่องว่างที่เด็กจะติดเข้าไปได้ ซึ่งโคสลีปเปอร์อาจมีความปลอดภัยมากกว่าการให้ทารกนอนบนเตียงร่วมกับคุณแม่ แม้ว่าหลาย ๆ ครอบครัวจะเลือกแบบหลังก็ตาม
  • เบอะนอน หรือ ฟูกนอน ควรเป็นแบบที่ไม่นิ่มจนเกินไปครับ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อได้ ในกรณีที่ลูกเกิดพลิกตัวนอนคว่ำหน้า (แม้ว่าจะจับนอนหงายในตอนแรก แต่เด็กอาจพลิกคว่ำได้เอง) จะทำให้หน้าจมลงไปและหายใจไม่ออกได้
  • ผ้ายางรองฉี่ 2 ผืน หากเป็นเด็กเล็กที่ยังควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ คุณแม่ควรปูผ้ายางหรือแผ่นรองกันซึมทับลงบนที่นอน เพื่อไม่ให้ปัสสาวะของลูกซึมเลอะที่นอน (ควรใช้ผ้าอ้อมปูทับผ้ายางเพื่อรองผิวที่บอบบางของหนูน้อยไม่ให้สัมผัสกับยางโดยตรง) แต่ห้ามนำถึงพลาสติกมาประยุกต์ใช้ เพราะอาจเกิดอันตรายจากถุงพลาสติกไปครอบศีรษะหรือปิดทับจมูกและปากลูกได้
  • ผ้าปูที่นอน ควรเป็นผ้าฝ้าย นิ่มเบา และอุ่นสบาย เมื่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกหนาว ไม่ควรห่มผ้าให้ทันที แต่ควรยกลูกขึ้นมาอุ้มไว้แนบอกสักครู่ แล้วจึงค่อยวางลงนอนและห่มผ้าให้อุ่น
  • ผ้าห่มและผ้าคลุม ผ้าห่มของลูกควรมีขนาดใหญ่พอที่จะซุกปลายเก็บไว้ใต้เปลหรือฟูกได้ (ควรเตรียมไว้สัก 3-5 ผืน เอาไว้เผื่อซักเผื่อพันเป็นหมอนข้างไว้ดันตัวลูก) ผ้าห่มไม่ควรมีชายครุยรุ่ยร่าย เพราะอาจพันนิ้วเล็ก ๆ ของลูกหรือลูกอมเข้าปากจนเกิดการสำลักได้ และควรเน้นเรื่องความสะอาด ทำความสะอาดได้ง่าย ผ้าที่ทำจากเส้นใยอะคริลิกหรือผ้าฝ้ายผสมพอลิเอสเตอร์จะทำความสะอาดได้ง่ายและไม่กอให้เกิดภูมิแพ้ หากคุณแม่คนไหนจะประยุกต์ผ้าคลุมไหล่ไหมพรมผืนใหญ่มาใช้ ก็ควรจะสำรวจว่าไม่มีรูโหว่ที่ร่างกายของลูกจะติดเข้าไปหรือถูกผูกรัด ส่วนของเส้นใยที่หลุดลุ่ยจนพันรอบนิ้วมือนิ้วเท้าของลูกหรือลูกอมเข้าปากจนเกิดการสำลักได้ ในบางครั้งผ้าห่มอาจไม่จำเป็น ถ้าภายในห้องไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศจนเย็นเกินไป (ไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส) แค่ให้ลูกใส่เสื้อที่อบอุ่นก็พอแล้ว หากเด็กบางคนชอบให้ห่อตัวแน่น ๆ เพราะรู้สึกปลอดภัยเหมือนอยู่ในท้องแม่ จึงค่อยห่อตัวให้ การห่อยังเหมาะกับเด็กที่ชอบเตะผ้าห่มกระจุยกระจายอีกด้วย
  • หมอนปรับท่านอนทารก (ราคาประมาณ 500 บาท) เป็นหมอนประคองตัวเด็กที่สามารถปรับแก้ท่าทาง สรีระของเด็ก และการนอนของลูกได้ แต่ผมเองมองว่าไม่จำเป็นต้องใช้ครับ สิ้นเปลืองเงินเปล่า ๆ แถมยังใช้ได้ไม่กี่เดือน แนะนำให้ลูกนอนตะแคง แล้วหาหมอนข้างเล็ก ๆ มาดันหลังเอาไว้ก็ได้ครับ แค่นี้หัวลูกก็ไม่แบนแล้วครับ แต่ถ้าลูกดิ้นเก่งมากและคุณแม่เป็นกังวลก็แล้วแต่จะพิจารณาครับ
  • เปลไกว ปกติแล้วทารกจะชอบการเคลื่อนไหว เวลาเอาทารกใส่เปลไกลจึงช่วยให้เขาสงบลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนการใช้เป้พยุงตัวนั้นแม้จะทำให้เด็กเคลื่อนไหวได้เหมือนกัน แต่การใช้เปลไกวจะดีกว่าตรงที่แม่จะได้มีเวลาพักบ้าง ซึ่งการใช้เปลไม่ได้ทำลูกติดนิสัยไปจนโตอย่างที่หลายคนกลัวกันอยู่ แต่การให้ลูกเพลิดเพลินกับเปลตลอดเวลาก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเช่นกัน เพราะลูกจะขาดโอกาสพัฒนาการทางด้านอื่น ๆ
  • เก้าอี้นอนแบบโยกของเด็ก (เก้าอี้ปรับเอนทารก) เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่จะช่วยเบาแรงคุณแม่ได้เป็นอย่างดี เมื่อกำลังยุ่ง มือไม่ว่างจะอุ้มลูก คุณแม่อาจทำงานไปเล่นกับลูกไปได้ และยังยกย้ายเก้าอี้ไปไว้ใกล้ตัวคุณแม่ในยามที่ต้องเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้สะดวก บางครั้งที่ลูกร้อง เก้าอี้จะโยกไปมาทำให้ลูกเพลินและหลับไปเอง คุณแม่จึงไม่ต้องอุ้มกล่อม และการใช้เก้าอี้ปรับเอนควรรัดเข็มขัดเพื่อความปลอดภัยด้วยทุกครั้ง (ถ้ามีคาร์ซีทอาจใช้คาร์ซีทแทนก็ได้ แต่ควรเลือกคาร์ซีทที่มีฐานใหญ่ให้พอรองรับน้ำหนักไม่ให้ล้มง่ายเวลาลูกเคลื่อนไหว)
  • มุ้งครอบ ถ้าบ้านไม่ติดมุ้งล้วนก็ถือว่าจำเป็นมากครับ หรือบ้านที่ติดมุ้งลวดแต่กลัวยุงหลุดรอดมากัดลูกจะซื้อมาใช้ก็ได้ครับ เพราะราคาไม่กี่ร้อย แต่ควรเลือกซื้ออันใหญ่ ๆ หน่อยนะครับ

ของใช้เด็ก

3.) หมวดอุปกรณ์อาบน้ำและการทำความสะอาด คุณแม่คนไทยมักถนัดอาบน้ำลูกในอ่างที่วางกับพื้น แต่คุณแม่ก็สามารถอาบน้ำให้ลูกในอ่างล้างหน้าหรืออ่างที่วางไว้บนโต๊ะก็ได้ ไม่ต้องลุกนั่งให้ปวดเมื่อย แต่ควรเลือกเครื่องใช้อาบน้ำที่แข็งแรง ใช้ได้สะดวก และอาจจะมีของเล่นลอยน้ำสีสันสดใสด้วยก็ได้ จะช่วยให้การอาบน้ำของลูกเป็นไปอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้น

  • อ่างอาบน้ำ ถ้าเป็นอ่างน้ำพลาสติกควรเลือกชนิดที่มีที่กั้นกันลื่นเพื่อความปลอดภัย คุณแม่ไม่จำเป็นต้องซื้อแบบที่เปิดน้ำออกได้หรือเป็นแบบไม่ต้อง เพราะถึงเวลา ๆ จริงแล้วมันอาจไม่สะดวกแบบที่คิด การอาบน้ำให้ลูกแม้จะเป็นเรื่องไม่ง่ายของคุณแม่มือใหม่ แต่พอหัดไปเรื่อย ๆ ไม่นานคุณแม่จะมีความชำนาญเอง เพราะฉะนั้นไม่ต้องเป็นกังวลหรือกลัวว่าลูกจะหลุดมือครับ
  • ตาข่ายรองอาบน้ำเด็ก & เก้าอี้อาบน้ำเด็ก ควรอย่างใดอย่างหนึ่ง มีราคาพอ ๆ กันครับประมาณ 150-200 กว่าบาทขึ้นไป ใช้สำหรับพยุงตัวลูกเวลาอาบน้ำ เพื่อความสะดวกและปลอดภัย ซึ่งคุณแม่ส่วนใหญ่จะเลือกใช้แบบตาข่ายมากกว่าเก้าอี้ (เพราะแบบเก้าอี้จะเกะกะอ่าง)
  • สบู่ & แชมพู ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับเด็กหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสบู่หรือครีมอาบน้ำเด็ก คุณแม่ควรเลือกซื้อแบบหัวปั๊มเพื่อความสะดวก หรือซื้อแบบที่ใช้อาบน้ำและสระผมได้ในขวดเดียวกัน และในการเลือกใช้ อันดับแรกควรดูว่าลูกแพ้หรือมีอาการระคายเคืองหรือไม่เวลาใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ หากเกิดการระคายเคืองคุณแม่อาจใช้เฉพาะน้ำเปล่าธรรมดาอาบน้ำให้ลูกได้ ส่วนแชมพูควรเลือกสูตรที่ไม่ทำให้แสบตา
  • ฟองน้ำธรรมชาติ ควรเลือกซื้อแบบที่เป็นธรรมชาติ แพงหน่อยแต่ใช้ได้นานครับ เอาไว้ใช้ชุบน้ำแล้วบีบ มันจะทำให้คุณแม่สามารถล้างตัวลูกได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสระผม
  • หมวกกันแชมพู (หมวกกันน้ำเข้าตาเด็ก) ไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ มีราคาไม่แพงครับ
  • เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิน้ำ การใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิน้ำไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่พ่อแม่มือใหม่อาจมีไว้ตรวจตรวจอุณหภูมิเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำร้อนเกินไปก็ได้ ควรตั้งอุณหภูมิทำน้ำอุ่นไว้ที่ประมาณ 48.8 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่านั้น แต่เพื่อป้องกันการผิดพลาดของอุปกรณ์ ควรทดสอบด้วยมือซ้ำอีกครั้ง น้ำที่ใช้อาบไม่ควรจะอุ่นเกินไป เพราะจะทำให้ลูกผิวแห้งแตกได้ง่าย และห้ามเปิดน้ำร้อนลงไปในขณะที่ลูกอยู่ในอ่าง
  • ผ้าขนหนู มีไว้ใช้สำหรับห่อตัวลูกหลังอาบน้ำ 1 ผืน และผ้าขนหนูเช็ดตัวลูก 2 ผืน (เผื่อใช้สลับกัน) และผ้าขนหนูผืนเล็กอีก 1-2 ผืน (ถ้าเป็นผ้าสาลูก็ใช้ดีไม่มีฝุ่น แต่จะแห้งเร็วไม่สู้ผ้านาโนเนื้อนิ่ม ๆ ที่เช็ดแล้วแห้งเลย)
  • สำลีก้าน (คอตตอนบัด) ที่ผ่านการฆ่าเชื้อ สะอาด และปลอดภัย ควรมีไว้หลาย ๆ แบบ สำลีก้านเล็กเอาไว้เช็ดรูจมูก สำลีก้านใหญ่เอาไว้เช็ดรูหู ส่วนสำลีก้านธรรมดาเอาไว้เช็ดสะดือลูกและอื่น ๆ
  • สำลีแผ่นแบบรีดข้าง เอาไว้ใช้สำหรับเช็ดตาลูก
  • สำลีแบบก้อนหรือแบบแผ่น เอาไว้ใช้เช็ดก้นลูก ถ้าอยากประหยัดให้ซื้อแบบม้วนแล้วมาตัดเอาครับ มีขายตามร้านขายยาทั่วไป
  • กระดาษทิชชู่ ใช้สำหรับเช็ดทำความสะอาดทั่วไป
  • กระดาษเช็ดก้นลูก หรือ กระดาษชำระแบบเปียก (Baby Wipes) เอาไว้ใช้สำหรับเช็ดทำความสะอาดก้นลูกตอนอยู่ข้างนอกครับ แต่ถ้าอยู่ในบ้านควรใช้วิธีล้างก้นด้วยน้ำสะอาดแทนจะดีกว่าดีครับ จะได้ไม่ทำให้ผิวลูกแห้งและเกิดการระคายเคือง
  • ผ้าก๊อซ เอาไว้ชุบน้ำอุ่นใช้เช็ดปาก เช็ดเหงือก
  • น้ำเกลือ ใช้สำหรับสวนล้างจมูกลูก & ใช้กับสำลีเช็ดทำความสะอาดต่าง ๆ
  • กระติกน้ำร้อน เอาไว้ใช้สำหรับผสมน้ำอาบและใช้ร่วมกับสำลีเช็ดทำความสะอาดตา ฟัน หรือก้นของลูก
  • กะละมังซักผ้าอ้อม ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ 2 ใบ และขนาดเล็ก 2 ใบ (ขึ้นอยู่กับความกว้างของลานซักผ้าที่บ้านด้วย)
  • ถังขนาดกลาง 1 ใบ ความจุประมาณ 3-5 ลิตร สำหรับใช้แช่ผ้าที่มีรอยฉี่และผ้าเปื้อนอุจจาระ (ควรล้างให้หมดก่อนแช่) เพราะจะช่วยให้ซักได้ง่ายกว่าการปล่อยไว้ให้แห้ง
  • ราวตากผ้าอ้อม & ห่วงตากผ้าอ้อมใหญ่พร้อมที่หนีบ & ไม้แขวนเสื้อเด็ก
  • ถังขยะ คุณแม่ควรซื้อแบบเหยียบมีฝาปิดกันกลิ่น

ของใช้เด็กทารก

4.) หมวดเสื้อผ้า เสื้อผ้าสำหรับเด็กอ่อนมีให้คุณแม่เลือกได้มากมาย ทั้งมีสีสันสดใส รูปแบบน่ารัก เหมาะสมกับลูกน้อยและสภาพอากาศ แต่สิ่งที่คุณแม่ควรคำนึงถึงก็คือ ราคาจะต้องไม่แพงจนเกินไป (เพราะเมื่อเวลาผ่านไป 2-3 เดือน ลูกก็จะใส่เสื้อผ้าตอนแรกคลอดไม่ได้แล้ว) และลูกใส่แล้วสบายและปลอดภัย

  • ผ้าห่อตัวหรือผ้าพันตัวผืนใหญ่ 1 ผืน ใช้ในวันออกจากโรงพยาบาลหรือพาไปหาหมอ แนะนำเป็นผ้าลำสี เพราะเด็กจะอุ่น ในช่วงแรกเดือนแรกหลังคลอดยังจำเป็นต้องใช้อยู่ครับ เพราะเด็กยังต้องการการปรับตัว
  • เสื้อผ้า 4-6 ตัว ควรเป็นผ้าฝ้ายคอกว้าง ถ้าเลือกเสื้อแบบผูกด้านหน้าจะผูกได้ง่ายกว่าเสื้อผูกด้านหลัง เพราะถ้าผูกด้านหลังจะต้องจับลูกพลิกตัว บางครั้งก็ต้องมีคนอุ้มแล้วผูกให้ (เสื้อผ้าไม่จำเป็นต้องซื้อเยอะ เพราะในช่วงแรกลูกจะโตเร็วมาก คุณแม่ควรซื้อเผื่อไว้ 2 ไซส์ คือ ไซส์ 60 สำหรับช่วงแรกเกิด ไซส์ 70 สำหรับช่วง 1-3 เดือน และเผื่อไซส์ 80 สำหรับช่วงอายุ 4 เดือนขึ้นไปไว้ด้วยครับ)
  • หมวกใบน้อย 2-3 ใบ เอาไว้ใช้สลับกัน สำหรับคลุมศีรษะลูกในวันที่แดดร้อนและอากาศหนาว
  • ถุงมือ 2-4 คู่ ใช้เพื่อป้องกันน้องเอาเล็บข่วนหน้า แต่ถ้าตัดเล็บให้สั้นก็ไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้ครับ
  • ถุงเท้าหรือรองเท้าผ้า 2-4 คู่ เลือกเอาแบบไม่ที่หลุดง่าย (รองเท้ายังไม่จำเป็นใช้ครับ)
  • เสื้อไปเที่ยว 1-2 ชุด
  • ชุดกันหนาว 2 ชุด
  • ชุดผ้ายืด 6 ชุด
  • ผ้าสำลี 2-3 ผืน

เตรียมของใช้ทารก

คำแนะนำในการเลือกซื้อผ้าให้ลูกน้อย

  1. เนื่องจากลูกจะโตเร็วมากในช่วงขวบปีแรก ดังนั้นการหาซื้อเสื้อผ้าสำหรับทารกแรกเกิดคุณแม่สามารถซื้อผ้าขนาดเด็ก 3-6 เดือนมาเผื่อไว้ได้เลย (ยกเว้นว่าลูกจะคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อย)
  2. คุณแม่ไม่ควรซื้อเสื้อผ้ามากจนเกินไป (แต่ก็ไม่ควรน้อยจนเกินไปจนขาด ควรเตรียมเสื้อผ้าของลูกเผื่อเอาไว้บ้าง) เพราะลูกจะโตเร็วมาก เสื้อผ้าบางชิ้นที่ซื้อมาอาจสวมใส่ได้ไม่กี่ครั้งหรืออาจไม่ได้ใช้เลย เสื้อผ้าที่คับไปก็ทำให้ลูกไม่สบายเนื้อสบายตัว เมื่อเลือกซื้อก็ควรเลือกซื้อเท่าที่ต้องใช้งานจริง ๆ
  3. ควรเลือกซื้อเสื้อผ้าที่มีราคาไม่แพงจนเกินไป (แต่ต้องมีคุณภาพ เนื้อผ้าที่ลูกใส่สบายคือ ผ้าฝ้าย 100%) เสื้อผ้าที่มีราคาถูกบางครั้งก็ไม่มีคุณภาพ ใช้ไปไม่นานเนื้อผ้าเริ่มหยาบกระด้างและหลุดลุ่ย และที่สำคัญคุณแม่ไม่จำเป็นต้องซื้อตามแฟชั่นให้ทันสมัยหรือเสื้อผ้าหรูหรา อย่าไปคำนึงถึงความสวยงาม แต่ไม่มีประโยชน์ใด ๆ กับลูก เพราะอย่าลืมว่าลูกชอบชุดที่สวมใส่แล้วรู้สบาย และแม้ว่าเสื้อผ้าบางแบบจะน่ารักก็จริง แต่ก็หาโอกาสใส่ได้น้อย เพราะผ้าอาจหนาเกินไป หรือมีการตกแต่งมากที่คอหรือแขน ซึ่งอาจทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัวได้ คุณแม่จึงควรคำนึงถึงจุดนี้เอาไว้ด้วยนะครับ
  4. เสื้อผ้าของลูกจะต้องสวมใส่สบาย คุณแม่จึงควรเลือกซื้อเสื้อผ้าหลวม ๆ เพื่อลูกจะได้เหยียดแขนยืดขาได้ตามสบาย ไม่ควรซื้อเสื้อให้พอดีตัวจนเกินไป เพราะเสื้ออาจคับหรือหด ซึ่งลูกคงไม่ชอบแน่ ๆ ถ้าเป็นเสื้อผ้าฝ้ายเนื้อนุ่มและสวมใส่สบายจะเหมาะกับลูกน้อยที่สุด เพราะผ้าใยสังเคราะห์จะไม่สามารถซับเหงื่อได้
  5. ในเรื่องความปลอดภัย แนะนำว่าผ้าทุกอย่างที่ให้ลูกใช้ ควรเป็นผ้าเนื้อแน่น เพื่อนิ้วเล็ก ๆ ของลูกจะได้ไม่เข้าไปติด หากใส่ชุดที่คลุมฝ่าเท้า ควรตรวจดูจะเข็บด้านในด้วยว่ามีเส้นด้ายหรือเส้นผมติดอยู่หรือไม่ เพราะอาจพันรอบนิ้วเท้าทำให้ลูกเจ็บปวดได้เช่นกัน ส่วนสายผูกโบควรผูกให้แน่นไม่หลุดจนเป็นสายพันรัดคอได้ อย่าซื้อเสื้อผ้าที่มีกระดุม หรือเสื้อผ้าที่มีวัสดุหรือป้ายหนาแข็ง รวมถึงเสื้อผ้าที่มีซิปก็ไม่เหมาะ เพราะอาจกดทับผิวเนื้ออันนุ่มละมุนของลูกเวลานอน และบางครั้งอาจเผลอรูดแล้วไปถูกผิวลูกได้ (หากซื้อมาแล้วควรตรวจดูความเรียบร้อยของซิป กระดุมติดแน่นดีหรือไม่ เพื่อป้องกันการหลุดหรือเด็กเอาใส่ปาก รวมถึงป้ายที่อาจระคายเคืองต่อผิวหนัง)
  6. การเตรียมเสื้อผ้าให้ลูกไม่จำเป็นต้องมีชุดสำหรับจุดประสงค์ที่หลากหลายเหมือนผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ชุดนอนก็สามารถเอามาใส่ตอนกลางวันได้ ชุดนอนแขนยาวขายาวจะเหมาะกับเด็กที่ไม่ชอบห่มผ้า ส่วนชุดขาสั้นจะเหมาะกับวันที่อากาศร้อน
  7. ครอบครัวที่มีพี่ร้องอายุไล่เลี่ยกัน การส่งต่อเสื้อผ้าจะช่วยประหยัดได้มาก แต่คุณแม่ควรตรวจดูเสื้อผ้ามือสองเหล่านั้นด้วยว่ามีสภาพเรียบร้อย ไม่ชำรุดจนสร้างความรำคาญให้ลูกเวลาสวมใส่
  8. ควรซื้อเสื้อผ้าเตรียมไว้ให้เหมาะกับสภาพอากาศในช่วงที่ลูกคลอดและสวมใส่ได้สบาย สีไม่ตก
  9. ถ้าอากาศหนาว ควรสวมเสื้อผ้าให้ลูกอุ่นเพียงพอ แต่อย่าห่อตัวแน่นจนลูกอึดอัด
  10. เมื่อต้องเดินทางไปเมืองหนาวควรเตรียมหมวกเพื่อให้ความอบอุ่น เพราะเด็กอาจสูญเสียความร้อนทางศีรษะได้ง่าย คุณแม่ควรเลือกหมวกที่ไม่ใหญ่จนเลื่อนปิดหน้าลูก
  11. ในวันที่ต้องออกแดด ควรใส่หมวกปีกกว้างและมีสายรัดคาง เพื่อป้องกันไม่ให้แสงแดดทำอันตรายผิงบอบของลูก
  12. ที่คาดผมอาจดูน่ารักก็จริง แ
Scroll