phone

เลี้ยงลูกแต่ละวัยอย่างไรให้มีสุขภาพกาย สุขภาพใจดี

เลี้ยงลูกแต่ละวัยอย่างไรให้มีสุขภาพกาย สุขภาพใจดี



เด็กในวันนี้จะเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติต่อไป ความรู้ในเรื่องการดูแลลูกน้อยให้มีสุขภาพที่ดีทั้งทางกายและอารมณ์จิตใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกทุกวัย ซึ่งสิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญคือ

1.การมีความรู้ความเข้าใจเรื่องทักษะการเลี้ยงดูลูกให้มีสุขภาพดีในแต่ละวัย

2.ควรมีเวลาที่เพียงพอและเป็นเวลาที่มีคุณภาพ เพื่อดูแลลูกให้เติบโตมีพัฒนาการที่ดีและมีสุขภาพทางกายและจิตใจที่ดีได้

3.ควรเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างว่าเด็กแต่ละคนเกิดมาไม่เหมือนกัน ทั้งพื้นฐานอารมณ์ สติปัญญา พัฒนาการช้าเร็วต่างกัน เมื่อยอมรับในความต่างได้ก็จะพัฒนาไปสู่การรักและดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างไม่มีเงื่อนไขมีความสำคัญต่อการพัฒนาความผูกพันในครอบครัว

4.ควรมีโอกาสเลี้ยงดูลูกด้วยตนเองเพื่อสร้างสายใยแห่งรักและความผูกพัน ให้ลูกรับรู้ได้ว่าตนเป็นที่รัก มีคุณค่าสำหรับพ่อแม่ซึ่งพร้อมจะอยู่เคียงข้างเสมอ เขาจะรู้จักรักตัวเองจนพัฒนาไปสู่การรักผู้อื่นได้และเกิดพัฒนาการทางจิตใจที่มั่นคง

เลี้ยงลูกแต่ละวัยอย่างไรให้มีสุขภาพดี ➢ ลูกวัยทารก พ่อแม่ควรให้ความรักความเอาใจใส่และตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากลูกวัยนี้ยังไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ พ่อแม่จึงเป็นคนสำคัญในการเอาใจใส่ด้านต่างๆ เช่น

1.ไวต่อการแสดงออกและความรู้สึกของลูก เช่น รู้ทันทีว่าเขาร้องเพราะอะไร...หิว ง่วง ปวด อยากขับถ่าย เปียกแฉะ อยากให้อุ้ม และควรตอบสนองความต้องการของลูกทันทีและสม่ำเสมอ พร้อมทั้งรู้จักกระตุ้นลูกบ่อยๆ ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกอด หอม อุ้ม คุยเล่น สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ลูกเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นว่าตนเป็นที่รัก เป็นที่ต้องการ (Basic Trust) สร้างความผูกพันที่ดีและเหนียวแน่นมั่นคงกับพ่อแม่ได้ (Secure Attachment) เป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาการในขั้นต่อๆ ไป หมอพบว่าเด็กจำนวนมากในวัยนี้ถูกส่งไปยังสถานรับฝากดูแลเด็กเล็ก ซึ่งหากพ่อแม่ไม่แบ่งเวลาในการกระตุ้นลูกด้วยตัวเอง จะทำให้เขาขาดรากแก้วซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของชีวิต

2.การเลี้ยงเด็กวัยทารกเป็นงานหนัก พ่อและครอบครัวจึงควรมีส่วนช่วยเหลือแม่ในการเลี้ยงดูลูกวัยทารกด้วยจะส่งผลดีต่อสุขภาพของทั้งแม่และลูกครับ

3.แม้เด็กบางคนจะมีพื้นอารมณ์ที่เลี้ยงยาก เช่น ร้องไห้เก่ง ปรับตัวยาก กินนอน ขับถ่ายไม่เป็นเวลา แต่การยอมรับในตัวเด็กเข้าใจและให้การดูแลที่เหมาะสมมีผลสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กมากกว่าพื้นอารมณ์ที่ติดตัวมา

4.ส่งเสริมให้เด็กได้รับนมแม่อย่างเหมาะสม เพราะนมแม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการทางสมองและพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูก รวมทั้งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกได้ โดยทั่วไปควรให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน และกินควบคู่กับอาหารที่จำเป็นอื่นๆ จนถึงอายุ 1-2 ขวบ

5.ส่งเสริมภูมิคุ้มกันโรคและพบแพทย์เพื่อรับความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ที่จำเป็น เช่น การให้วัคซีนตามวัยเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อต่างๆ ประเมินเรื่องพัฒนาการรวมถึงเรียนรู้เทคนิคการกระตุ้นพัฒนาการและการเลี้ยงดูที่เหมาะสมจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

➢ ลูกวัยหลัง 1 ขวบปี เป็นช่วงวัยที่พ่อแม่ต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพ การกระตุ้นพัฒนาการ และศึกษาเทคนิคการเลี้ยงลูกให้พัฒนาได้เก่งสมวัย โดยยึดหลักการง่ายๆ คือ 4 อ

• อบอุ่น การให้ความรักความอบอุ่นอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

• อบรม การอบรมลูกให้รู้จักฝึกระเบียบและรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง

• โอกาส เด็กจำนวนมากในยุคนี้ขาดโอกาสในการฝึกทักษะและพัฒนาการตามวัย เพราะบางครอบครัวอาจเลี้ยงดูแบบตามใจ โดยผู้ปกครอง หรือพี่เลี้ยงเด็ก ทำทุกอย่างให้เด็กทั้งหมด จนลูกทำอะไรไม่เป็น เช่น เด็ก 3 ขวบควรเริ่มฝึกการกินข้าวเองได้ แต่หมอพบบ่อยๆ ว่าหลายครอบครัวกลัวว่าเด็กจะทำเองไม่ได้ กลัวเลอะเทอะ กลัวกินช้า จึงช่วยทุกอย่าง ทำให้ขัดขวางทักษะและพัฒนาการตามวัยได้ ดังนั้น การให้โอกาสลูกได้ฝึกทักษะการช่วยเหลือตัวเองและทักษะอื่นตามวัยจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยครับ

• อุเบกขา (ปล่อยวางอย่างเหมาะสม) เป็นเรื่องจำเป็นที่พ่อแม่ต้องฝึกวางความกังวล และการลดช่วยเหลือลูกมากเกินพอดี หากรู้จักวางได้อย่างเหมาะสมโดยเปิดโอกาสให้ลูกได้ฝึกคิดฝึกทำอะไรเองบ้าง และพ่อแม่ทำหน้าที่คอยสอนจะทำให้ลูกมีพัฒนาการและทักษะต่างๆ สมวัย ซึ่งวิธีการที่เหมาะสมในการดูแลเด็กวัยนี้คือ

1.พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการดูแลสุขภาพของตัวเองให้กับลูก เช่น กินอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกาย นอนตรงเวลา เพราะเด็กวัยนี้จะเรียนรู้ได้จากการเลียนแบบ ดังนั้น การทำตัวให้เป็นต้นแบบที่ดีมีความสำคัญมากกว่าการพูดสอนอย่างเดียว

2.ตระหนักว่าการเล่นเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่าการเรียน เพราะการเล่นจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการต่างๆ ของลูกให้สมวัยได้มาก เช่น การเคลื่อนไหวส่งเสริมพัฒนาการร่างกายและกล้ามเนื้อ การคิดริเริ่มฝึกจินตนาการและฝึกการแก้ปัญหา มีความสนุกเพลิดเพลิน นอกจากนี้เด็กที่ได้เล่นกับพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนๆ จะได้เรียนรู้การปรับตัวอยู่ร่วมกับคนอื่น มีทักษะทางสังคม รู้จักรอคอย แบ่งปัน และเข้าใจผู้อื่น รวมทั้งแสดงออกทางอารมณ์ได้เหมาะสม

3.ลูกไม่ควรใช้สื่อต่างๆ (Social Medi) ทั้งทีวี Internet หรือ Tablet ก่อนวัยอันควร ซึ่งตามมาตรฐานของสมาคมกุมารแพทย์อเมริกันกำหนดไว้ชัว่าเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปีไม่ควรและไม่มีความจำเป็นให้สัมผัสต่อสื่อต่างๆ ดังกล่าว เพราะหากใช้มากไปและไม่เหมาะสมจะกระทบพัฒนาการต่างๆ ของลูกได้

แต่หมอมักพบว่าในปัจจุบันเด็กจำนวนมากพูดช้า ขาดทักษะทางสังคม และมีอาการคล้ายกลุ่มโรคออทิสติก จากการขาดการกระตุ้นที่เหมาะสมจากพ่อแม่ และเด็กจำนวนมากเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวและพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมจากสื่อที่เขาสัมผัส Social Media อาจทำให้เด็กนิ่งได้นานๆ และทำให้พ่อแม่มีเวลาในการทำอย่างอื่นมากขึ้น แต่ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกน้อยอย่างเหมาะสมได้เหมือนพ่อแม่ครับ

4.สอนการป้องกันอันตรายให้ลูกรู้จักกลัวในสิ่งที่ควรกลัว เช่น ปลั๊กไฟ ของมีคม ซึ่งเขาจะเรียนรู้การป้องกันอุบัติเหตุให้กับตัวเองได้ และควรสอนสุขอนามัยรวมถึงวิธีดูแลสุขภาพง่ายๆ อย่างการกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนตรงเวลา แปรงฟันอาบน้ำตรงเวลา ล้างมือก่อนกินอาหาร การเลี่ยงไม่พาลูกไปเล่นบ้านบอลและเครื่องเล่นต่างๆ ที่ใช้มือสัมผัสในช่วงในที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ หรือไวรัสที่ทำให้ท้องเสียครับ

5.แสดงออกถึงความรักและหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์รุนแรงกับลูก ควรบอกรัก กอด หอม ลูบศีรษะ แสดงความรักด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กวัยนี้ ที่สำคัญคือการเลี่ยงการดุหรือตีด้วยอารมณ์รุนแรง หรือเลี่ยงการตำหนิที่กระทบจิตใจลูก เช่น ทำตัวอย่างนี้แม่ไม่รักแล้ว เพราะจะทำให้เขาเข้าใจผิดและเกิดปมด้อยได้

6.อบรมปลูกฝังวินัยและความรับผิดชอบตามวัย ทั้งหน้าที่ความรับผิดชอบส่วนตัวและหน้าที่ในบ้าน เช่น วัย 3-4 ขวบควรป้อนข้าวเอง และรู้จักช่วยแม่ถือของเบาๆ ได้ เป็นต้น 7.เปิดโอกาสให้ลูกได้ฝึกฝนทักษะการช่วยเหลือตัวเอง ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการแก้ปัญหา และทักษะอื่นตามวัย

8.ส่งเสริมให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความสามารถ (Self Esteem) ปลูกฝังให้ลูกรู้สึกว่าเขามีดี มีคุณค่า โดยชื่นชมเขาทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น สามารถทำอะไรดีๆ สำเร็จด้วยตัวเอง เป็นต้น ความสุขกาย สุขใจ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ การปลูกฝังการดูแลสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ รวมถึงส่งเสริมให้เด็กมีทักษะการช่วยเหลือตัวเองและพัฒนาการที่สมวัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งเริ่มต้นง่ายๆ ได้จากตัวคุณก่อน ด้วยการหาความรู้ในการดูแลสุขภาพของคุณและลูกจากแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง  จากนั้นก็ค่อยๆ เริ่มปลูกฝังเรื่องดังกล่าวให้ลูกได้เรียนรู้ทีละเล็กละน้อยได้โดยที่คุณสามารถเป็นต้นแบบที่ดีได้ไม่ยากครับ

Scroll