phone

เลี้ยงลูก อย่างไร ไม่ให้เอาแต่ใจ ไม่กรี๊ด

บ้านไหนมีเด็ก คนในบ้านนั้นก็ต้องทำใจต่อเสียงร้องไห้ โวยวาย แต่ถ้าเสียงกรี๊ดร้องของเด็ก นับวันมีบ่อยขึ้น และเกิดวันละหลายครั้ง ก็ต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

สาเหตุที่เด็กกรี๊ด
1. เป็นการแสดงออกถึงความโกรธ ไม่พอใจ หงุดหงิด อาจจะเป็นภาวะปกติในช่วงที่เด็กยังพูดได้ไม่เก่ง (วัย 1 - 3 ปี) ที่เด็กยังแสดงออกเป็นพฤติกรรมที่ไม่พอใจออกมา เมื่อเติบโตขึ้น พฤติกรรมการกรีดร้อง จะลดลงจนหายไปหมด แต่เด็กจะพูดออกมา ถึงความต้องการหรือคับข้องใจเพิ่มขึ้น
2. เป็นการเรียนรู้ถึงอิทธิพลจากการกรี๊ด ซึ่งทำให้เด็กได้ทุกสิ่งที่ต้องการ เพราะมีผู้คอยเสริมหรือคอยให้ท้าย พร้อมที่จะยินยอมทำตามเด็กทุกอย่าง
3. เลียนแบบพฤติกรรมชอบกรี๊ดจากผู้ใหญ่
4. มีคนยั่วแหย่ให้เด็กโกรธบ่อย ๆ
5. การเลี้ยงดูที่ตามใจมาก ส่งเสริมให้เด็กเอาแต่ใจตัวเอง ไม่สอนให้หัดควบคุมอารมณ์ทุกอย่างต้องได้ดั่งใจ
6. เป็นการเรียกร้องความสนใจ
7. ขาดทักษะในการช่วยเหลือตนเอง และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไม่ดี

วิธีการแก้ไข
1. ให้ความสำคัญต่อเด็ก เมื่อขณะที่ยังไม่กรี๊ด หรือแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม ยังไม่เคยเห็นเด็กคนไหนกรี๊ดได้กรี๊ดดีอยู่ตลอดเวลา แต่พบได้บ่อยในเด็กที่เวลาประพฤติกรรมตัวดี ๆ น่ารัก ไม่ค่อยมีผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ หรือชี้ให้เด็กเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นดีและเหมาะสมแล้ว แต่พอเด็กกรี๊ดออกมาเท่านั้น ผู้ใหญ่จะรีบวิ่งเข้าหาเพื่อปลอบหรือให้ความสำคัญ หรือเข้าไปดุ ว่า ตี สั่งสอน ฯลฯ แต่ก็เท่ากับว่าให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั่นเอง ทำแบบนี้ซ้ำ ๆ จนเด็กเรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องกรี๊ดเพื่อเรียกร้องความสนใจ
2. ในกรณีที่เอาแต่ใจตัวเอง ทุกอย่างต้องได้ ถ้าไม่ได้ก็จะโวยวาย เด็กลักษณะนี้มักจะถูกเลี้ยงดูโดยการตามใจเด็กมากเกินไป จนไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่ชัด โดยที่พ่อแม่และพี่เลี้ยงจะพยายามทำทุกอย่างตามที่เด็กต้องการ เพื่อจะได้ไม่ร้องไห้ และเด็กเองก็เรียนรู้ถึงอิทธิพลของการโวยวายกรี๊ดร้องว่าจะใช้เป็น "ไม้ตาย" เวลาไม่ได้ดั่งใจ เช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนท่าทีการเลี้ยงดูเด็กใหม่อย่าคิดว่าการทำ ทุกอย่างเพื่อป้องกันมิให้เด็กร้องไห้นั้น จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมีคนรักคนชอบมากมาย เด็กเองต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ในกฎเกณฑ์ ลดการตามใจ ฝึกให้ช่วยตนเองเพิ่มขึ้น สิ่งใดที่เล่นไม่ได้ก็อย่าให้เล่นถึงแม้ว่าเด็กจะอาละวาดขนาดไหน ก็อย่าสนใจ แต่ให้เบี่ยงเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่น
3. ลดการยั่วแหย่เด็ก หรือทำให้เด็กโกรธโดยไม่จำเป็น
4. ในกรณีที่มีผู้ใหญ่ที่ชอบกรี๊ด หรือโวยวายเป็นต้นแบบของวิธีที่จะเอาแต่ใจตัวเอง จำเป็นต้องพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อลดแบบอย่าง ถ้าเป็นไปได้กรณีที่เปลี่ยนผู้ใหญ่ไม่ได้ก็ต้องแยกเด็กให้ห่างออกมา
5. ฝึกให้เด็กควบคุมอารมณ์ อารมณ์รัก ชอบ ดีใจ ไม่พอใจ โกรธ ผิดหวัง ฯลฯ เป็นอารมณ์ที่พบได้ในเด็กวัย 3 - 5 ปี หน้าที่ของพ่อแม่ก็คือสอนให้เด็กรู้ทันว่าตนเองรู้สุขอย่างไร และฝึกให้หัดควบคุมอารมณ์ หรือฝึกวิธีระบายอารมณ์ ซึ่งมีหลายวิธีตั้งแต่การพูดคุย การทำสิ่งทดแทน เช่นโกรธจัด ๆ ก็ไปเตะฟุตบอล หรือว่ายน้ำ หรือวาดรูปเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้โกรธ เพื่อที่เด็กจะได้เรียนรู้ไตร่ตรองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น
6. เพิ่มทักษะในการเล่น เช่น การว่ายน้ำ เล่นบอล ถีบจักรยาน วาดรูป เล่นตุ๊กตา เล่นขายของ ฯลฯ เพราะการเล่นในเด็กมีความหมายเท่ากับการทำงานของผู้ใหญ่ ในชีวิตจริงเราพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่ลูกจะได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ ความผิดหวัง ความเสียใจ ความโรธแค้น จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่การเล่นและการทำกิจกรรมจะทำให้เด็กผ่านภาวะเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ได้มีเวลาไตร่ตรอง และระบายความรู้สึกผ่านการเล่นนี้เอง

7. เพิ่มทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ปัญหาของเด็ก 3 - 5 ปี มักหนีไม่พ้นปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ทำน้ำหก ติดกระดุมเขย่ง หารองเท้าไม่พบ ฯลฯ การฝึกหัดให้เด็กรู้จักแก้ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลทำให้เด็กมีความชำนาญที่จะ แก้ไขสถานการณ์ที่ผิดหวังได้เก่งกว่าเด็กที่ช่วยตนเองไม่ได้ ซึ่งก็คงทำได้แค่ส่งเสียงกรี๊ด ๆ รอให้ผู้ใหญ่เข้ามาช่วยเหลืออีกตามเคย

โตไปไม่ปรี๊ด!

กรี๊ดๆๆๆ แงๆๆๆ เสียงหนูน้อยร้องไห้ ตามห้างสรรพสินค้า ตามร้านอาหาร หรือที่ต่างๆ ที่เรามักเห็นเป็นประจำจนชินตา และเป็นปัญหาที่ผู้ปกครองปวดหัว เหมือนสงครามประสาทระหว่างพ่อ แม่กับลูก

โดยทั่วไปเด็กกับการร้องไห้เป็นของคู่กันอยู่แล้ว เพราะเขาใช้การร้องไห้สื่อสารสารพัดเรื่อง เช่น หิว กลัว เจ็บ ตกใจ ปวดอึ ปวดฉี่ หรืออารมณ์ไม่ดี ถ้าใครเลี้ยงลูกเอง จะทราบว่าเสียงร้องไห้แต่ละเรื่องนั้นต่างกัน แม้แต่การยิ้มหัวเราะ เพราะพอใจ สนุกสนาน ขบขัน ขำกลิ้ง ขำก๊าก แต่ละอารมณ์แปรเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ที่น้องหนูเจอเมื่อยามเป็นทารก

การเลี้ยงลูกแสดงออกทางอารมณ์ จึงเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เราสื่อสารกับเขาได้ แต่เมื่อเขาเริ่มเรียนรู้ พอเข้าใจสิ่งที่เราสอนได้ การปล่อยให้เด็กแสดงอารมณ์แบบตามใจชอบ คงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงในอนาคต เพราะเขาจะเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ไม่เป็น โดยเฉพาะ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่หากควบคุมอารมณ์ไม่ได้อันตรายสุดๆ ดังที่เราคงเห็นจากข่าวหน้าหนึ่งบ่อยๆ บางทีแค่เรื่องมองหน้ากัน เกิดเขม่น หรือ โดนขับรถปาดหน้าก็ยิงกันตายแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกัน นี่คือผลของการไม่ยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้นั่นเอง

 

ผู้อ่านบางท่านอาจคิดว่าคงไม่ใช่ปัญหาของเรา เพราะเราและลูกของเราคงไม่ไปทำเช่นนั้น ผู้เขียนอาจเสนอข้อมูลที่น่าเป็นห่วง คือ จากการทดสอบความสามารถทางอารมณ์ของเด็กๆ จำนวนมากที่ศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พบว่าเด็กมีปัญหาทางอารมณ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุหลักด้านหนึ่งที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถแสดงความเก่งออกมาได้ โดยเฉพาะปัญหาการควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ของเด็กๆ นั้น  เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน

ปัญหาการเลี้ยงลูกทางอารมณ์ของเด็กมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ความเครียด เศร้าซึม เก็บกด ก้าวร้าว ควบคุมตัวเองไม่ได้ ฯลฯ การแสดงปัญหาเมื่อยามเด็กอาจสังเกตง่ายๆ เช่น เรื่องแย่งของเพื่อน หรือโดนเพื่อนแย่งของ ก็ซัดกัน ตุ๊บตั๊บ หรือโมโหเพื่อนก็ต่อยเพื่อนเลย อาการแบบนี้หากไม่แก้ไข เขาก็กลายเป็นผู้ใหญ่ที่น่ากลัว โดยเฉพาะพวกฉลาดๆ แต่อารมณ์ร้ายกาจ นี่ใครทำงานด้วยก็ขนหัวลุกเอาง่ายๆ อยากเห็นลูกเป็นคนที่มีความมั่นคงทางอารมณ์นั้นไม่ยาก แต่ต้องฝึกตั้งแต่เด็กๆ สองข้อต่อไปนี้ คือ กฎเหล็กที่เป็นข้อห้าม

 

กฎข้อแรก

คือ ผู้ใหญ่ที่บ้านเป็นต้นแบบของเด็ก ดังนั้นหากจะทะเลาะกัน

ก็อย่าทะเลาะต่อหน้าลูก

กฎข้อที่สอง

คือ ต้องไม่ทำตัวอย่างการทำร้ายร่างกายให้ลูกเห็น โดยเฉพาะ

ผู้ชายที่มีเรี่ยวแรงมากกว่าผู้หญิง คุณพ่อบางรายบอกว่า ผมแค่

เอาหลังมือตีแก้มเขานิดเดียว ไม่ได้ตั้งใจทำร้าย แต่เขายั่วโมโหเอง

(ว่าเข้านั่น) เขาเลือดกลบปากฟันหักเอง เพราะกระดูกเขาไม่ดี

อย่างนี้ลูกเลียนแบบแน่ๆ

คุณแม่ ช่างคุย ช่วยลูกฉลาด

เรียบเรียงโดย :นิตยสารบันทึกคุณแม่


Scroll