phone

เลี้ยงลูกให้พี่น้องรักกัน ทำอย่างไร น่ะ

ลูก 1 ก็ว่าเลี้ยงยากแล้ว มีลูกมากๆ ยากยิ่งกว่า”

คุณแม่ท่านไหนที่มีสมาชิกตัวเล็กในบ้านมากกว่า 1 คงต้องเห็นด้วยกับประโยคนี้แน่ๆ เลยใช่ไหมล่ะคะ โดยเฉพาะเมื่อต้องเจอกับปัญหา“พี่น้องทะเลาะกัน” ลูกคนนั้นแย่งของลูกคนนี้ ลูกคนนี้ชอบตีลูกคนโน้น ลูกคนโน้นไม่ช่วยเหลือลูกอีกคน และอีกสารพัดปัญหา วันนี้ครูพิมจึงจัดหัวข้อพิเศษมาเอาใจ(ช่วย) คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านที่เคยเจอกับปัญหานี้ รวมถึงทุกๆ ที่กำลังจะมีเบบี๋อีกคนและไม่ต้องการให้ปัญหานี้เกิดขึ้นหรือเกิดปัญหาน้อยที่สุด เพราะครูพิมในฐานะลูกคนกลาง ก็ขอยืนยันค่ะว่า หากไม่ตั้งรับให้ดี ปัญหานี้ก็พร้อมเกิดขึ้นแน่นอน ก็แหม…ในบ้านมีกันอยู่แค่นี้ จะให้ไปทะเลาะกับใครที่ไหนล่ะคะ ฮ่าๆๆ (เอ๊ะ..ยังไง)

สำหรับเทคนิคที่ครูพิมจะนำเสนอในวันนี้ จะขอปูพื้นตั้งแต่ที่คุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวจะมีน้องอีกคนไปจนถึงคุณพ่อคุณแม่ที่เลยจุดนั้นมาแล้ว (หมายถึงมีน้องมากกว่า 1 ไปแล้วเรียบร้อย) เพื่อที่จะได้ปรับใช้กันได้ตามความเหมาะสมนะคะ ถ้าพร้อมแล้วก็มาเริ่มต้นเรียนรู้ไปด้วยกันเลยค่ะ

  1. เตรียมใจให้ลูกคนโต – สำหรับคุณแม่ที่วางแผนไว้แล้วหรือรู้ตัวว่ากำลังจะมีน้อง สิ่งที่ไม่ควรละเลยอย่างหนึ่งก็คือ การบอกให้ลูกคนโตรู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ และพยายามให้มีส่วนร่วมกับน้องให้ได้มากที่สุดเท่าที่วัยของเขาจะทำได้ เช่นคุยกับน้อง ลูบท้องคุณแม่ ช่วยออกไอเดียต่างๆ เช่นตั้งชื่อ เลือกซื้อของ(กรณีเด็กโต) เพื่อให้เกิดความผูกพันและไม่รู้สึกว่าสมาชิกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นเหมือนคนแปลกหน้านั่นเองค่ะ
  2. ไม่ละเลยพี่ – แม้ว่าพี่คนโตเองจะยังเล็กอยู่ แต่การมีสมาชิกใหม่เข้ามาในบ้านในช่วงจังหวะที่เขาก็กำลังเติบโต ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดความรู้สึกหวงหรือกลัวการถูกแย่งความรักได้ค่ะ เพราะโดยส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่จะมีน้องเล็กห่างจากพี่ใหญ่ประมาณ 2-3 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่พี่คนโตเองก็กำลังต้องปรับตัวในการที่จะเข้าโรงเรียนเช่นกัน ในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่จึงต้องไม่ละเลยในการใส่ใจการเปลี่ยนแปลงและช่วยเหลือพี่คนโตในการปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ๆ นะคะ
  3. ระวังสถานการณ์ที่อาจเกิดความขัดแย้ง – ความซนของลูกคนเล็กด้วยความไม่รู้เดียงสา เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งและครุกรุ่นในใจของลูกที่มีอายุมากกว่าค่ะ เพราะพี่เองก็ยังไม่เข้าใจในเรื่องของเจตนา ส่วนน้องก็กำลังสนุกสนานกับการสำรวจและทำความรู้จักกับสิ่งใหม่ๆ ในกรณีที่พี่คนโตกำลังง่วนอยู่กับสิ่งประดิษฐ์สุดเจ๋ง ผู้ปกครองควรจัดสถานที่ไว้ให้พ้นเขตอันตรายจากน้องคนเล็ก (ตรงนี้ต้องใส่ใจสักนิดนะคะ) เช่นการให้พี่คนโตทำงานบนโต๊ะสูง หรือห้องที่ปิดประตูได้ เพื่อป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ นั่นเองค่ะ
  4. สอนเทคนิคเอาตัวรอดให้กับพี่บ้าง- การแย่งของชิ้นเดียวกันโดยเฉพาะเมื่อน้องเล็กอยากได้ของพี่ใหญ่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เลยใช่ไหมล่ะคะ แต่วิธีการบอกว่า “เป็นพี่ต้องแบ่งน้อง” หรือ “เป็นน้องอย่าแย่งของพี่” อาจจะไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือทำให้เด็กเข้าใจมากขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งหลายๆ ครั้งคำพูดเหล่านี้เองนี่หละค่ะ ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เพราะเด็กเองยังไม่เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมเช่น “การแบ่งปัน หรือ การเสียสละ” มากนัก ดังนั้น เทคนิคที่ครูพิมคิดว่าน่าสนใจและได้ผลมากกว่าจึงเป็นการสอนพี่ให้รู้จักเบี่ยงเบนความสนใจน้อง เช่น เสนอของเล่นชิ้นอื่นที่มีความใกล้เคียงกันโดยให้พี่เป็นคนเสนอเองนะคะ เพราะแน่นอนว่าสิ่งที่น้องอยากได้ก็คือ สิ่งที่พี่กำลัง “ถือ”อยู่นั่นเองค่ะ และหากกรณีที่ความขัดแย้งยังคงเกิดขึ้น การนำของเล่นเจ้าปัญหาออกจากสถานการณ์ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ใช้ได้เสมอค่ะ
    ทะเลาะกัน...เรื่องเล็ก

    Photo Cr: childdevelopmentinfo.com

  1. พยายามเลือกของเล่นหรือกิจกรรมที่เป็นส่วนรวม – หลายๆ บ้านจะมีเฉพาะของเล่นที่ไม่สามารถแบ่งหรือเล่นด้วยกันได้ (ซึ่งก็แน่นอนว่าอาจจะนำมาซึ่งการแย่งชิงกันได้เช่นกัน) ดังนั้นการมีของเล่นจำพวกเกมกระดาน ตัวต่อ หรือของเล่นที่สามารถเล่นร่วมกันได้ จึงเป็นตัวเลือกที่ควรพิจารณาค่ะ
  2. สร้างสถานการณ์หรือกิจกรรมที่พวกเขาต้องแท็คทีมกันบ้าง – บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างความสามัคคีขึ้นมาบ้างนะคะ แต่ครูพิมไม่ได้หมายถึงอะไรที่ต้องใหญ่โตหรอกนะคะ เพราะเพียงแค่กิจกรรมสนุกๆ อย่าง ช่วยกันตามหาของ หรือเล่นเกมที่พวกเขาเป็นฝ่ายเดียวกัน โดยมีคุณเป็นฝ่ายตรงข้าม ก็สามารถที่จะทำได้เช่นกันค่ะ
    Photo Cr: blog.difflearn.com

    Photo Cr: blog.difflearn.com

  1. เป็นพี่น้องกันก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา – การใช้เวลาทั้งวันร่วมกันเป็นสิ่งที่ดูมากเกินไปสำหรับเด็กๆ (หรือจริงๆ ก็สำหรับทุกคน) เพราะยิ่งใช้เวลาด้วยกันมาก ก็อาจเกิดความขัดแย้งได้มากเช่นกันค่ะ นอกจากนี้ เด็กแต่ละคนยังมีความต้องการที่แตกต่างกัน และการใช้เวลากับแต่ละกิจกรรมก็อาจไม่ตรงกัน เช่น เวลานอนของน้อง เวลากินข้าวของพี่ ซึ่งแต่ละกิจกรรมไม่ควรทับซ้อนหรือทำให้กิจวัตรประจำวันของอีกคนติดขัด ซึ่งจุดนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องจัดสรรให้ดีตั้งแต่เนิ่นๆ ค่ะ
  2. สร้างเวลาคุณภาพกับลูกแต่ละคน – แม้ครอบครัวจะขยายใหญ่ขึ้น แต่บางครั้งเราก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรหรือไปไหนเป็นแพ็คเกจตลอดเวลาก็ได้ค่ะ การให้เวลาพิเศษกับลูกแต่ละคน เป็นหนึ่งในวิธีการที่จะทำให้เด็กๆ รู้สึกถึงการได้รับความรักและความเอาใจใส่ “อย่างเฉพาะเจาะจง” ซึ่งวิธีการแบบนี้เป็นที่นิยมในครอบครัวยุโรป ที่เรียกว่าการเดท(กับพ่อแม่)นั่นเองค่ะ

เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับเทคนิคทั้ง 8 ข้อที่ครูพิมนำมาฝากนี้ ในหลายๆ ข้อ อาจจะดูเหมือนเป็นการเพิ่มงานให้กับคุณพ่อคุณแม่ หากว่าเราสามารถที่จะได้แล้วหละก็ ครูพิมคิดว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างพี่น้องจะเกิดขึ้นน้อยลงทีเดียวค่ะ และนั่นจะช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นนะระยะยาวลงไปได้มาก เรียกว่ายอมเหนื่อยสักนิดเพื่อชีวิตที่ดีกว่า(มาก)ก็แล้วกันนะคะ อันที่จริงแล้ว การเลี้ยงดูเด็กๆ 2 คนหรือมากกว่า ให้มีความรัก ความปรารถนาดี และมีการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่กันด้วยใจจริง และมากกว่าขอบเขตของคำว่า “เพราะเป็นพี่น้องกัน” ก็สามารถที่จะทำได้ด้วยวิธีการเดียวกันนี้เช่นกันนะคะ

ขอให้โชคดีมีลูกๆ ที่รักกันนะคะ

Scroll